วันศุกร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เทคนิคการเลี้ยงปลาหางนกยูง

การเลี้ยงปลาหางนกยูง










ปลาหางนกยูงจัดเป็นปลาสวยงามประเภทหนึ่งที่มีผู้นิยมเลี้ยงไว้ดูเล่น พันธุ์ที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน มีประมาณ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ Cobra (คอบร้า) Tuxedo (ทักซิโด้) Mosaic (โมเสค) Grass (กร๊าซ) และ Sword tall ( นกยูงหางดาบ) พันธุ์เหล่านี้ได้รับการปรับปรุงให้มีลักษณะสวยงาม แข็งแรงลำตัวใหญ่สมส่วน ไม่คดงอ มีการทรงตัวปกติ ครีบหางใหญ่ไม่หักพับขณะว่าย และที่สำคัญมีสีสันลวดลายตรงตามสายพันธุ์ สำหรับวิธีเลี้ยงปลาหางนกยูงให้มีสีสันสวยงาม เพื่อให้ได้ราคาดี มีขั้นตอนดังต่อไปนี้



เลี้ยงปลาหางนกยูงแบบมืออาชีพ



ปลาหางนกยูงเป็นปลาที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง กินสัตว์น้ำตัวเล็กเป็นอาหาร รวมทั้งลูกปลาตัวเล็กๆ ที่เกิดใหม่ด้วย เมื่อปลามีอายุประมาณ 3 เดือนก็สามารถผสมพันธุ์ได้แล้ว ดังนั้นผู้เลี้ยงจึงต้องแยกปลาเพศผู้กับเพศเมียไว้คนละบ่อ เพื่อป้องกันการผสมพันธุ์กันเอง การแยกเพศทำได้เมื่อลูกปลามีอายุประมาณ 1 เดือนขึ้นไป วิธีเลี้ยงปลาหางนกยูง มีขั้นตอน ดังนี้



เตรียมบ่อ ที่ใช้เลี้ยงตามต้องการ ทำความสะอาด ผึ่งแดดให้แห้ง หลังจากนั้นเปิดน้ำใส่แช่ทิ้งไว้ 1 วัน ก่อนปล่อยปลาลงเลี้ยง



น้ำที่ใช้ใส่บ่อเลี้ยงปลา ต้องเป็นน้ำสะอาด



น้ำประปา ต้องไม่มีคลอรีนเจือปนอยู่ โดยพักน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 สัปดาห์



น้ำบาดาล ทำเช่นเดียวกับน้ำประปา คือพักน้ำทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ และเติมออกซิเจนตลอดเพื่อเป็นการเพิ่มปริมาณออกซิเจนในน้ำ



ดูค่าความเป็นกรด ด่าง (pH) โดยใช้กระดาษทดสอบค่า pH จุ่มในน้ำ แล้วนำสีที่ได้มาเทียบค่า ให้มีค่าประมาณ 6.5 – 7.5 (กระดาษทดสอบหาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์เลี้ยงปลาทั่วไป)



อาหารของปลาหางนกยูง



สำหรับอาหาร ปลาหางนกยูงจะกินสัตว์น้ำขนาดเล็ก ซึ่งเรียกว่าอาหารสดจำพวก ลูกน้ำ ไรแดง ไรสีน้ำตาล ไรทะเล ที่มีชีวิต หรืออาหารปลาสำเร็จรูปที่มีขายตามท้องตลาด อาหารควรให้ 2 เวลา คือ ตอนเช้าและตอนเย็น ตอนเช้าควรเป็นอาหารสดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว โดยนำไปแช่ด่างทับทิม ขั้นตอนคือนำด่างทับทิมประมาณหยิบมือ ละลายน้ำ นำไรแดง หรืออาหารสดอื่นๆ ลงแช่ทิ้งไว้ประมาณ 10-20 วินาที แล้วล้างน้ำสะอาดอีกครั้ง ตอนเย็นอาจเปลี่ยนไปให้อาหารสำเร็จรูปแทนได้ เมื่อให้อาหารปลาเสร็จแล้ว ควรดูว่าปลากินหมดหรือไม่ ให้น้อยไปหรือไม่ สังเกตได้จากปลากินหมดเร็วมาก ก็ให้เพิ่มอีก แต่หากให้อาหารเยอะไปมีเศษอาหารเหลือ ให้ตักทิ้ง อาหารสดที่กล่าวมา สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายปลาสวยงามทั่วไป หรือที่ตลาดนัดสวนจตุจักร สิ่งสำคัญ ควรให้อาหารสดจำพวกไรแดง ไรทะเล ดีกว่าให้อาหารสำเร็จรูป เพราะปลาจะได้มีสีสันที่สวยงาม



การทำความสะอาด



ในแต่ละสัปดาห์ ควรดูดน้ำก้นบ่อเอาขยะออก และให้เหลือน้ำเก่าประมาณครึ่งบ่อ จากนั้นจึงเติมน้ำใหม่ลงไป สาเหตุที่ไม่เทออกทั้งหมด เพื่อให้ปลาปรับตัวได้ และในสัปดาห์ที่ 4 ของเดือน ให้ล้างทำความสะอาดบ่อและเปลี่ยนน้ำใหม่



ระวัง! ภัยจากโรคร้าย



โรคจุดขาว จะพบตามผิวหนังด้านนอก เนื่องจากปลาสร้างเซลล์ผิวหนังหุ้มสัตว์เซลล์เดียวที่ชื่ออิ๊ค เพื่อลดความระคายเคือง โรคนี้ไม่มีวิธีรักษา แต่สามารถทำลายตัวอิ๊คในน้ำ โดยใส่ฟอร์มาลิน 25 –30 ซีซี ผสมกับมาลาไค้ท์กรีน 0.1 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอด ทำซ้ำ 3–4 วัน เป็นเวลา 1 สัปดาห์



โรคจากตัวปลิงใส จะพบตามเหงือกและผิวหนัง ซึ่งเกิดจากปรสิตตัวแบน 2 ชนิด คือ Gyrodactylus และ Dctylogyrus การรักษาใช้ฟอร์มาลินเข้มข้น 40 ซีซี ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ไว้ตลอด



โรคจากหนอนสมอ การรักษาใช้ดิพเทอร์เรกซ์เข้มข้น 0.25 – 0.50 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร แช่ทิ้งไว้ตลอด และทำซ้ำ 3–4 ครั้ง โดยห่างกัน 1 สัปดาห์ วิธีนี้สามารถรักษาโรคจากตัวปลิงใสได้ด้วย



โรคจากแบคทีเรีย อาการสังเกตจากส่วนครีบและหางกร่อน ท้องบวมน้ำ เกล็ดพอง การรักษาต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น ไนโตรฟูราโซน 1–2 กรัม ต่อน้ำ 1,000 ลิตร หรือใช้เกลือแกงเล็กน้อยละลายน้ำ แช่นาน 2–3 วัน



เมื่อพบปลาที่เป็นโรคควรแยกออกจากบ่อ แล้วทำการรักษาตามอาการที่พบ จากนั้นล้างทำความสะอาดบ่อทันที เพื่อไม่ให้ปลาในบ่อทั้งหมดติดโรคไปด้วย สารเคมีที่ใช้ในการรักษาโรค หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์การเลี้ยงปลาสวยงามทั่วไป หรือที่ตลาดนัดสวนจตุจักร











ขอขอบคุณข้อมูลจาก

กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น